วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นวัตกรรมของไทย

นวัตกรรม

นวัตกรรม เป็นคำที่ใช้ควบคู่กับ เทคโนโลยี เสมอๆความจริงแล้ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากนวัตกรรมเป็นเรื่องของการคิดค้นหรือการกระทำใหม่ ๆเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นของการเสนอความคิดหรือในขั้นของการทดลองอยู่ก็ได้ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมุ่งไปที่การนำสิ่งต่าง ๆรวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าหากพิจารณาว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้น่าจะนำมาใช้ การนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วย และในการใช้เทคโนโลยีนี้ถ้าเราทำให้เกิดวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราจึงมักเห็นคำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อยู่ควบคู่กันเสมอ
1.1 ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยี เป็นการนำเอาแนวความคิด หลักการ เทคนิค ความรู้ ระเบียบวิธี กระบวนการตลอดจนผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ทั้งในด้านสิ่งประดิษฐ์และวิธีปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในระบบงานเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้มีมากยิ่งขึ้นการนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานในสาขาใดสาขาหนึ่ง
1.2 จุดมุ่งหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
1.การขยายพิสัยของทรัพยากรของการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอน ที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก
2. การเน้นการเรียนรู้แบบเอกัตบุคคล ถึงแม้นักเรียนจะล้นชั้น และกระจัดกระจาย ยากแก่การจัดการศึกษาตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้
3.พัฒนาเครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษา หรือการเรียนการสอนปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนา ให้มีศักยภาพ หรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก
1.3 ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา
หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
1.4 ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร
1.5 ความหมายของเทคโนโลยีการสอน
การนำเอาวัสดุ อุปกรณ์ วิธีการต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมาผสมผสานกันในเชิงระบบ รวมทั้งทฤษฎีการเรียนรู้ และการสื่อความหมาย มาพัฒนาการเรียนการสอนให้สูงขึ้น การวางแผลของครูเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ในการนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่กำหนด สภาพท้องถิ่น ความพร้อมของโรงเรียน และความแตกต่างของผู้เรียนจะเป็นตัวกำหนดว่าครูควรจะใช้กระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมแบบใด จึงสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. ความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการศึกษา
1. การเพิ่มจำนวนประชากรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ
2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องจากการเพิ่มประชากร
3. ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการใหม่ ๆ การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม
2.1 ปัญหาการศึกษาของไทยและต่างประเทศ
1. นักเรียนเสพยาเสพติด
2. ความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทางการศึกษา
3. เงินกู้ยืม , ทุนในการศึกษา ไม่มีเพียงพอกับกับจำนวนคนที่ต้องการ
4. นักศึกษา,นักเรียน ขาดคุณภาพ
5. วัฒนธรรม และ จริยธรรม เสื่อมโทรม
6. การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของกระทรวงศึกษาไม่โปร่งใส
7. หลักสูตรการเรียนการสอนล้าสมัย
8. สถานศึกษาขาดปัจจัยสนับสนุน ด้านบุคลากร และงบประมาณที่เหมาะสม
9. การแต่งกายและขาดระเบียบวินัย
10. การปฏิรูปการศึกษาล่าช้า และ ไม่มีแนวทาง
2.2 การวิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบ
การนำความคิดเชิงระบบมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา จะทำให้มองเห็นได้ชัดว่า ปัญหาเกิดขึ้นทั้งในระดับผลผลิต ระดับผลกระทบ ระดับกระบวนการ และระดับปัจจัย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน
2.3 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาการศึกษาและการเรียนการสอน
เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการสอนเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ทำให้การเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ รูปแบบของสื่อการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ยุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ไฮเปอร์เท็กซ์ คอมพิวเตอร์ และระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
3. ขอบข่ายและองค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษา
3.1 ขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษา
1.การออกแบบ(Design) แสดงให้เห็นถึงการสร้าง หรือก่อให้เกิดทฤษฎีที่กว้างขวางที่สุดของเทคโนโลยีการสอนในศาสตร์ทางการศึกษา
2.การพัฒนา(Development) ได้มีการเจริญก้าวหน้าและแสดงให้เห็นแนวทางในการปฏิบัติ
3.การใช้(Utilization) ทางด้านนี้ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ดังเช่นทฤษฎีและการปฏิบัติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้มีการดำเนินการกันมากเกี่ยวกับด้าน การใช้สื่อการสอนมากมาย แต่ยังมีด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้สื่อการสอนที่ไม่ได้รับการใส่ใจ
4.การจัดการ(Management) เป็นด้านหลักที่สำคัญของสาขานี้ เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับแหล่งเรียนรู้ ที่จะต้องสนับสนุนในทุกๆองค์ประกอบ ซึ่งจะต้องมีการจัดระเบียบและแนะนำ หรือการจัดการ
5.การประเมิน(Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุง
3.2 การจัดการทางการศึกษา
เป็นหน้าที่ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อควบคุมหรือ กำกับการพัฒนาการศึกษา/การสอน หรือการจัดการทางการศึกษา/การสอน (การวิจัย การออกแบบ การผลิต การประเมนผล การให้ความช่วยเหลือการใช้) เพื่อเป็นหลักประกันประสิทธิผลการปฏิบัติงาน
3.3 การพัฒนาทางการศึกษา
เป็นหน้าที่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การคิดค้น การปรับใช้ และการประเมินผล ข้อแก้ไขปัญหา ทรัพยาการเรียน ด้วยการวิจัย (Researci-tneory) การออกแบบ (Desing) การผลิต (Production) การประเมินผล (Evaluation) การใช้ (Utilizsiton) ทั้งหมดนี้ต่างก็มีวิธีการดำเนินการที่มีส่วนสัมพันธ์กับทรัพยากรการเรียน เช่น ในด้านการวิจัยนั้น เราก็วิจัยทรัพยากรการเรียนนั่นเอง ซึ่งก็ได้แก่การวิจัย ข่าวสารข้อมูล บุคลากร วัสดุ เครื่องมือ เทคนิค และอาคารสถานที่ ดังนี้เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากว่าเทคโนโลยีการศึกษามีส่วนในการพัฒนา และเอื้ออำนวยต่อกระบวนการสอนต่าง ในระบบการสอน จึงจะต้องมีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพัฒนาระบบการสอนและระบบการศึกษาด้วย
3.4 ทรัพยากรการเรียน
ทรัพยากรการเรียน ได้แก่ ทรัพยากรทุกชนิด ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้แบบเชิงเดี่ยว หรือแบบผสม แบบไม่เป็นทางการ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ทรัพยากรการเรียนรู้ ได้แก่ข้อสนเทศ/ข่าวสาร บุคคล วัสดุ เครื่องมือ เทคนิค และอาคารสถานที่

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสหวิทยาการที่รวมเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาประกอบกัน ได้แก่ พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) วิทยาการจัดการ (Management Science) และวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) จากศาสตร์ดังกล่าวจึงเกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา โดยมีพัฒนาการจำแนกได้ดังนี้

เทคโนโลยีการศึกษาสื่อสาร ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1960 เมื่อโลกได้หันเข้ามาสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ ในด้านการศึกษานั้น ได้มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในปี 1977 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัท APPLE ได้ประดิษฐ์เครื่อง APPLE II ขึ้น โดยการใช้ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริหารจัดการ ต่อมาได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ได้ง่ายและสามารถช่วยในการเรียนการสอนได้มากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้

ยุคของมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้เริ่มขึ้นในปี 1987 เมื่อบริษัท APPLE ได้เผยแพร่โปรแกรมมัลติมีเดียครั้งแรกออกมา คือโปรแกรม HyperCard แม้ว่าโปรแกรมนี้จะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังสูง ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดมาก แต่ผลที่ได้รับก็น่าประทับใจ การพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรม Hyper Studio มาใช้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ โรงเรียน อย่างไรก็ตามเพียงภายในสองปี มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาก็ถูกแทนที่โดยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า นั่นก็คือ อินเทอร์เน็ต (Internet) นั่นเอง

ปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากผลการสำรวจปี 2545 คนอเมริกันใช้คอมพิวเตอร์ถึง174 ล้านคน (หรือร้อยละ 66 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) และมีการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 143 ล้านคน (หรือร้อยละ 54 ของประชากร) ส่วนในประเทศไทยนั้นผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 พบว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีประมาณ 10 ล้านคน ( ร้อยละ 16.6 ของประชากร) นอกจากนั้น ยังมีการสรุปด้วยว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลงและมีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มากขึ้น

การพัฒนาอันน่ามหัศจรรย์ใจของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นเครือข่ายแห่งเครือข่ายทำให้มีการเชื่อมโยงกันได้อย่างเสรีไม่มีการปิดกั้น ดังนั้นคนทุกคนจึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พอ ๆ กับการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก และจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อินเทอร์เน็ตจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพราะนักเรียนและครูสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมล์ การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion Groups ต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัยยิ่งขึ้นในการโทรศัพท์หรือประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มบทบาทสำคัญในการศึกษารูปแบบใหม่และยังช่วยเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตนเองอีกด้วย

เทคโนโลยีทางการศึกษา เริ่มต้นใช้คำว่า โสตทัศนศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งการนำสื่อโสตทัศน์ และวิธีการเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน มีการนำทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้ามา มีส่วนทำให้เกิดการสอนแบบต่าง ๆ มีการออกแบบระบบการเรียนการสอน และความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสอนเป็นกลุ่ม การสอนมวลชน การสอนทางไกล และการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งแนวคิดการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง Teacher Center Child Center หรือ Media Center รวมทั้งการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ การสอนผ่านเครือข่าย จะเห็นได้ว่าศาสตร์ของเทคโนโลยีการศึกษา มีพัฒนาการมาเป็นลำดับขั้น และประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีการศึกษาจึงถือเป็นเครื่องมือการศึกษา ที่มุ่งจัดระบบทางการศึกษาด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่มองภาพแบบองค์รวมลักษณะของการดำเนินการแก้ปัญหา จะมุ่งวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งหมด จากนั้นจึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยขึ้นมาใหม่ ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน โดยยึดถือหลักว่าให้แต่ละส่วนประกอบย่อยทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น เทคโนโลยีทางการศึกษา มองภาพระบบทางการศึกษาเป็นระบบใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยระบบย่อย อีกหลายระบบด้วยกัน
สำหรับความเป็นมาของการเกิดแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา หากมองตามการเกิดขึ้นของแนวคิดกับการปฏิบัติจริงขององค์ความรู้ในแต่ละอย่าง ก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1.เกิดแนวคิดก่อนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ความรู้ประเภทนี้มักเป็นเรื่องที่เป็นการศึกษา
ค้นคว้าทดลองจากแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีคิดขึ้นเองหรือมีผู้คิดไว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำความคิดไปทดลองใช้ได้อย่างจริงจัง เช่น การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการส่งสัญญาณวิทยุ ต่อมาจึงมีผู้นำแนวความคิดไปทดลองจนประสบความสำเร็จ
2.เกิดจากการปฏิบัติหรือการกระทำที่เป็นอยู่ แล้วนำไปสู่การสรุปเป็นแนวคิดหรือทฤษฎี
ความรู้ประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การเกิดลมพัด น้ำขึ้นน้ำลง แรงโน้มถ่วง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องของธรรมชาติ แต่นักคิดก็จะพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปเหล่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หรือสังเคราะห์ให้เกิดแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นไปต่าง ๆ

ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา ในระยะแรก ๆ จึงเป็นลักษณะของการกระทำที่เป็นอยู่แล้ว หรือเป็นไปตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การใช้รูปภาพ หรือ สื่อ อย่างง่าย ๆ มาประกอบการสอนหรือการบรรยาย โดยไม่ได้คิดถึงหลักการหรือทฤษฎีใด ๆ เพียงแต่คิดตามความความเข้าใจว่าย่อมทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ดีกว่าการสอนโดย
ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ส่วนแนวความคิดในยุคหลัง ๆ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เป็นการพยายามนำเอาแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพราะแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักได้รับการพิสูจน์ หรือผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว


บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา ดังนี้


1. เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องการเรียนรู้ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ หลายด้าน มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ระบบสนับสนุนการรับรู้ข่าวสาร เช่น การค้นหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการเรียนรู้ใน World Wide Web เป็นต้น


2. เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผน การดำเนินการ การติดตามและประเมินผลซึ่งอาศัยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ


3. เทคโนโลยีสารสนเทศกับการสื่อสารระหว่างบุคคล ในเกือบทุกวงการทั้งทางด้านการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยสื่อสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล เช่น การสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยใช้องค์ประกอบที่สำคัญช่วยสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การใช้โทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เทเลคอมเฟอเรนซ์ เป็นต้น


ข้อดีของเทคโนโลยีสารสนเทศ


1.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการประกอบอาชีพ
2.เพิ่มผลผลิตให้องค์กร
3.เพิ่มคุณภาพด้านการบริการลูกค้า
4.ผลิตและขยายผลิตภัณฑ์ใหม่
5.สร้างทางเลือกในการแข่งขันได้
6.สร้างโอกาสทางธุรกิจ
7.สร้างแรงดึงดูดต่อลูกค้า

ข้อเสียของเทคโนโลยีสารสนเทศ


1.ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย
2.ใช้ต้นทุนสูง
3.ทำให้ระบบที่มีการพัฒนาต้องปรับตาม


การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ทางด้านการศึกษา


การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ทางด้านการศึกษาถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในระดับประเทศเราจะเห็นได้ว่า รูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เดิมในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ เด็ก ๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารจนกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคมไปแต่ในปัจจุบันเริ่มมีระบบการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม ทำให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสเรียนรู้ ถึงแม้จะยังไม่แพร่หลายนักก็ตาม สำหรับเด็กในชุมชนที่มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์นอกจากการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว ก็ยังสามารถแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมาย โดยการการเชื่อมต่อกับเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่ทั่วโลก นอกเหนือไปจากความรู้ที่จะได้เรียนในห้องเรียนที่มีครูผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่สอนและผู้เรียนยังสามารถติดต่อถึงกันได้อย่างไร้ขีดจำกัดของเวลา โดยผ่านทางระบบ อิเล็คทรอนิคเมล์ (E-Mail) ได้อีกทางหนึ่งด้วย



ตัวอย่างนวัตกรรม

1.ชื่อนวัตกรรม : ทำสวนผักลอยน้ำจากผักตบชวา
2.ประเภทของนวัฒกรรม : นวัฒกรรมการเกษตร
3.ผู้พัฒนา : นักวิจัยของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4.พัฒนาเมื่อ : มีนาคม 2550


ลักษณะของนวัตกรรม

ด้วยในปัจจุบันปริมาณผักตบชวาในลำคลองชลประทานมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากจนส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดลง ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำประมง และการสัญจรทางน้ำ การชลประทาน จนเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลอง ทำให้มีการคิดริเริ่ม การปลูกผักบนแปลงลอยน้ำ เป็นโครงการล่าสุดที่กำลังดำเนินการส่งเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้นำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นหนทางแห่งการสร้างอาชีพและรายได้อีกทางหนึ่ง


ขั้นตอนการพัฒนา

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2521 ให้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอปากพนัง ชะอวด ร่อนพิบูลย์ เชียรใหญ่ หัวไทร ลานสะกา จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอควนขนุน และป่าพยอม จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1.9 ล้านไร่ ที่ได้รับความทุกข์เข็ญจากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาดินเค็มดินเปรี้ยวที่ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้การทำนาอันเป็นอาชีพหลัก บนพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ ไม่สามารถทำนาได้ตามปกติ พื้นที่การทำนาลดจำนวนลงกว่าครึ่งหนึ่ง และหลายพื้นที่ผลผลิตข้าวลดต่ำลงมาก

จากพระเมตตาคุณอันไพศาล และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า "ทุกข์ของประชาชนนั้นรอไม่ได้" การพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจึงบังเกิดขึ้น ภายใต้ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

มาถึงวันนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี การดำเนินการตามแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งการงานด้านระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐาน งานพัฒนาจัดวางระบบชลประทานน้ำเค็มและงานการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย บัดนี้ ราษฎรในลุ่มน้ำปากพนังทุกคน ล้วนมีดวงตาอันเปี่ยมไปด้วยประกายแห่งความหวังที่จะมีชีวิตใหม่อันสดใส ความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นอดีตกาลจะกลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันแผ่ปกไพศาลเป็นที่ล้นพ้น แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดแห่งการพัฒนา โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในวันนี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการประกอบอาชีพ

การปลูกผักบนแปลงลอยน้ำ เป็นโครงการล่าสุดที่กำลังดำเนินการส่งเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้นำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นหนทางแห่งการสร้างอาชีพและรายได้อีกทางหนึ่ง


จากข้อมูลของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการสำรวจในช่วงปี 2550 พบว่า ในลำคลองสาขา 19 สาขา มีปริมาณผักตบชวาถึงจำนวน 76,540 ตัน ซึ่งกรมชลประทานมีศักยภาพในการจำกัดได้ไม่มาก ดังนั้น จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการสร้างเครือข่ายชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดวัชพืชน้ำในลำคลอง โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

หนึ่ง ศูนย์กลางการเรียนรู้การกำจัดผักตบชวา ซึ่งเป็นการประสานงาน แหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมชุมชนและการศึกษาวิจัย ในการจัดการเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวา โดยผสมผสานเทคนิควิธีการจากแหล่งความรู้ต่างๆ และภูมิปัญญาของชุมชน เช่น การใช้ผักตบชวาสำหรับการทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงผักลอยน้ำ การทำแปลงทดสอบคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวา การทำหัตถกรรม การศึกษาวิจัยการคัดสายพันธุ์จุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายผักตบชวา เป็นศูนย์รับซื้อและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ผักตบชวาของชุมชน จากพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มน้ำปากพนัง

สอง กลุ่มจัดการผักตบชวาในลำคลอง ปัจจุบันมี 10 กลุ่ม กระจายตามลำคลองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีการดำเนินงานร่วมกับ อบต. ในการเอาผักตบชวาขึ้นเองจากลำคลองชลประทาน และประสานงานโครงการส่งเสริมน้ำและบำรุงรักษาในการใช้เรือกำจัดผักตบชวาในกรณีที่มีผักตบชวามากเกินกำลังของชุมชน เริ่มกำหนดจุดขึ้นผักตบชวาจากแม่น้ำลำคลองร่วมกัน และมีกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่และประสานกับศูนย์กลางการเรียนรู้ฯ เพื่อการให้ความรู้หรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคนิคการทำปุ๋ยอินทรีย์จากกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งการประสานงานทางการตลาดเพื่อผลิตปุ๋ยผักตบชวาตามความต้องการของลูกค้า

คุณปิยะ วันเพ็ญ นักวิจัยของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า การทำแปลงผักลอยน้ำที่ดำเนินการนั้น จะใช้แรงงานประมาณ 6 คน รวบรวมผักตบชวามากองบนโครงไม้ไผ่ที่ทำขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามขนาด ซึ่งมีความกว้าง 2 เมตร และยาว 8 เมตร จากนั้นอัดผักตบชวาให้แน่น

เมื่ออัดได้ความหนาของชั้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร ให้ขึ้นไปใช้เท้าเหยียบและเดินไปมาเพื่ออัดให้แพผักตบชวาแน่นและคงทนต่อการใช้งาน ทำแบบนี้เป็นชั้นๆ ทุกระยะ 20 เซนติเมตร จนได้ความหนาประมาณ 1 เมตร แต่ทั้งนี้ในการนำผักตบชวาขึ้นกองนั้น จะต้องทำให้มีความสูงเกินกว่าที่กำหนดนิดหน่อยเพื่อเผื่อไว้ในช่วงที่ผักตบชวาแห้งและยุบตัวลงมา

เมื่อความหนาของผักตบชวาได้ตามที่กำหนดแล้วจะนำดินมาโรยบนผิวหน้าเพียงเล็กน้อย แล้วจะใช้พร้าสับผิวดินด้านบนให้ใบผักตบชวาละเอียด และสะดวกต่อการเพาะปลูก ซึ่งในการทำแปลงผัก 1 แปลง จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้ผักตบชวาโดยไม่รวมน้ำหนักน้ำ คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม

ผักที่ใช้ทดลองเพาะปลูกในเบื้องต้น ได้แก่ แตงกวา ผักกาด ผักคะน้า และผักบุ้งจีน ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25-40 วัน ตามชนิดของผัก

"การปลูกนั้นสามารถทำได้เลยหลังจากที่ทำกองเสร็จ โดยจะนำต้นกล้าของผักที่เพาะเตรียมไว้มาลงปลูกบนแปลงตามระยะที่เหมาะสมของผักแต่ละชนิด"

ในส่วนของการให้น้ำแก่ผักที่ปลูกบนแปลง ด้วยเป็นการจัดทำแปลงปลูกในลักษณะลอยอยู่ในแหล่งน้ำ จึงทำให้ผักที่ปลูกสามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการให้น้ำแต่อย่างไร รวมถึงการปลูกด้วยวิธีนี้ ทางผู้ศึกษาวิจัยบอกว่า ไม่ได้มีการใช้สารเคมีต่างๆ เลย ทำให้เป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังไม่พบการระบาดของโรคแมลงต่างๆ ด้วย

คุณปิยะกล่าวต่อไปว่า ส่วนต้นทุนในการดำเนินการนั้น ค่าแรงคนงาน คนละ 100 บาท ต่อวัน โดยคนงาน 6 คน จะสามารถทำแปลงผักตบชวาได้ 2 แปลง คิดเป็นต้นทุนค่าแรงงานแปลงละ 300 บาท พร้อมกันนี้มีค่าพันธุ์ผักที่ใช้เพาะปลูกต่อแปลงประมาณ 30 บาท ค่าปุ๋ยและอุปกรณ์การเพาะชำกล้าแปลงละ 50 บาท รวมต้นทุนค่าดำเนินการทั้งสิ้น 380 บาท

สำหรับผลผลิตได้ต่อแปลงนั้น ทางสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง ให้ข้อมูลว่า ผักบุ้งจีนใช้เวลาเพาะปลูก 25-30 วัน ได้ผลผลิต 40-50 กิโลกรัม ต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมรายได้ประมาณ 800-1,000 บาท ต่อแปลง และสามารถตัดได้สองครั้ง

ขณะที่แตงกวาใช้เวลาในการเพาะปลูกประมาณ 30 วัน ได้ผลผลิต 50 กิโลกรัม ต่อแปลง จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 20 บาท รวมราคาที่จำหน่ายได้ 1,000 บาท ต่อแปลง

สำหรับพื้นที่แปลงผักดังกล่าวนี้ สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้ 3-4 รอบ หรือใช้งานได้ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และเมื่อใกล้หมดสภาพแล้วสามารถนำขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำไปทำเป็นชั้นบนของแปลงผักใหม่ได้

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว สามารถช่วยลดปริมาณผักตบชวาตามแม่น้ำลำคลองลงได้ อีกทั้งเป็นแปลงเพาะปลูกพืชผักสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งเหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลแปลงเพาะปลูก เพราะไม่จำเป็นต้องรดน้ำหรือดูแลเอาใจใส่มากนัก อีกทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากการส่งเสริมให้นำผักตบชวาจัดทำเป็นแปลงผักลอยน้ำแล้ว โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ลุ่มน้ำปากพนังดำเนินการผลิตปุ๋ยเพื่อนำไปใช้ในการเกษตร โดยใช้พื้นที่ของโรงกำจัดผักตบชวา บริเวณหัวงานโครงการฯ เป็นที่ผลิต และจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจได้นำไปใช้ โดยผู้สนใจอยากได้ปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา คุณภาพดี สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการการมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง หมู่ที่ 4 ตำบลบางพระ อำเภอปากพนัง โทร. (075) 517-909, (089) 197-6797

เอกสารอ้างอิง : เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 20 ฉบับที่ 416

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น